สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) Thai Renewable energy (RE100) association
ภาวะโลกร้อน (Global Warming) นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ เช่น พายุ น้ำท่วม ฝนแล้ง ที่ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ทั้งโลกตระหนักและเห็นพิษภัยของการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงนำไปสู่กติกาโลกใหม่ที่เราไม่สามารถจะใช้ทรัพยากรของโลกโดยไม่รับผิดชอบได้อีกต่อไป
ภาวะการณ์นี้เป็นผลทำให้ประเทศต่างๆ รวมตัวกันเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเริ่มจากการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 2 ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) ประเทศสมาชิกประชุมร่วมกันในหัวข้อว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Environment and Development)
เพื่อเป็นแผนแม่บทของโลกสำหรับการดำเนินงานที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในเวลาต่อมาได้มีการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ถึงแม้ในปัจจุบันเป้าหมาย MDGs ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ทางสหประชาชาติยังคงมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำต่อเนื่องคือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก” (Sustainable Development Goals: SDGs) ใน 15 ปีข้างหน้าที่จะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาของประชาคมโลกอย่างต่อเนื่องต่อไป
มติร่วมกันของประชาคมโลกจากการประชุมดังกล่าว ได้นำไปสู่แนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและหลักธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) ที่ได้รับความสนใจจาก บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก, ผู้จัดการกองทุน, รวมถึงนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งของกิจการและของสังคมโดยรวมมากขึ้น เพราะทุกการตัดสินใจจะสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบและแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่อยู่ในรูปของผลกำไรเพียงอย่างเดียว จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกนำไปปฏิบัติในรูปแบบที่เรียกว่า “Dow Jones Sustainability Index” (DJSI) ซึ่งเป็นดัชนีหลักทรัพย์ของบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ผ่านการประเมินความยั่งยืน ตามตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกให้การยอมรับและใช้เป็นข้อมูลในการลงทุน โดยแบ่งเป็น 24 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย 60 อุตสาหกรรมย่อย ที่มีผู้ลงทุนสถาบันและกองทุนให้ความสนใจ โดยจะมีการทบทวนและประกาศรายชื่อสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี และจากเหตุดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก จนส่งผลกระทบต่อระบบธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain อย่างรวดเร็ว
ในขณะเดียวกันทางสหภาพยุโรป (EU – European Union) ได้กำหนดมาตรการสำคัญอีกหนึ่งมาตรการซึ่งเรียกว่า “European Green Deal” หรือ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของสหภาพยุโรป” โดยมีกลไกการทำงานที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) โดยมีหลักการในการลดความได้เปรียบด้านต้นทุนของสินค้าจากประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ส่งสินค้าขาเข้าไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป โดยกลไกนี้จะพิจารณาจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนของการผลิตสินค้านั้น หากมีปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่มากกว่าสินค้าชนิดเดียวกันกับที่ผลิตในสหภาพยุโรป สินค้าชนิดนั้นก็ต้องเสียเงินส่วนต่างคาร์บอนในรูปแบบของอากรขาเข้าส่วนเพิ่ม หรือ Carbon Tariff ตามที่กลไก CBAM นี้จะบังคับ ทั้งนี้บริษัทผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปหรือบริษัทผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านอากรขาเข้าส่วนเพิ่ม หรือ Carbon Tariff ที่จะมีผลบังคับใช้ตามที่กลไก CBAM ดังกล่าวข้างต้น จำต้องจัดหา Carbon Emission Reduction Certificate มาใช้ในการหักลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยคาดว่ากลไก CBAM ของ EU จะประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ.2566)
นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศจุดยืนใหม่ภายใต้นโยบายการบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่กลับมาให้ความสำคัญกับสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในรอบ 100 ปี รวมถึงการประกาศการเข้าสู่โลกปราศจากคาร์บอน (Zero Carbon Emission) ของนานาชาติ อาทิเช่น
พลังงานสีเขียว หรือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy – RE) จึงเป็นตัวเลือกลำดับต้นที่มีบทบาทสำคัญในการทดแทนพลังงานสิ้นเปลืองหรือที่ใช้แล้วหมดสิ้นไป (Conventional Energy) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมและสมควรที่ประเทศไทยจะต้องมีองค์กรที่เป็นจุดศูนย์รวม ทั้งในด้านอุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply) จัดการแบบบูรณาการและเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ เพื่อเป็นพลังผลักดันให้ ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง ภาคธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งและธุรกิจบริการ รวมถึงภาคการเงินการธนาคารและภาคธุรกิจอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องของประเทศสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงใคร่ขอให้ทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมเป็นสมาชิกและร่วมจัดตั้ง RE100 Thailand Club ในครั้งนี้